การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เมื่อ : 16 พ.ย. 2563 , โพสต์โดย : ศน.ชนินทร์ สุรินแก้ว , เข้าชม : 399 ครั้ง
การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

          ในมาตรา 37-38 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา และการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก ซึ่ง พ.ร.บ. กำหนดให้โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากำหนด

          คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัด มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ และแนะนำโรงเรียนนำร่อง เพื่อให้การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มี พ.ร.บ. ฉบับนี้ รวมทั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยังมีหน้าที่และอำนาจในการออกแบบทดสอบตามมาตรา 20 (6) “จัดให้มีการออกแบบการทดสอบผู้เรียนเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” และการประเมินผลตามมาตรา 20 (10) “จัดให้มีการประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่อง”  โดยจะต้องให้สอดคล้องกับหลักสูตรตามมาตรา 25  หากคณะกรรมการขับเคลื่อนเห็นว่าโรงเรียนนำร่องใดมีความพร้อม อาจมอบหมายหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 20 (6) ให้แก่โรงเรียนนำร่องดังกล่าวดำเนินการในส่วนของตนได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนมีหน้าที่ อำนาจ และมีอิสระที่จะร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ออกแบบการจัดการศึกษาแนวใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และโรงเรียนนำร่องแต่ละโรงเรียนได้ เพื่อสร้างผลลัพธ์ผู้เรียนที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะมากขึ้น/ดีขึ้นกว่าเดิม
         
          โดยสรุป  เพื่อเป็นการลดภาระด้านการประกันคุณภาพให้แก่โรงเรียนนำร่อง บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562  ฉบับนี้ ในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยให้ใช้หลักเกณฑ์ใหม่ที่คณะกรรมการนโยบายจะประกาศกำหนดขึ้นในอนาคต ตามมาตรา 37 และมาตรา 38
 
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง